เกษตรปราณีต 1 ไร่ไม่ยากจน

 

เส้นทางสู่วิถีที่ยั่งยืนชีวิตที่มั่นคง

จาก www.kasedtakon.com เขียนโดย admin

 

สนใจเรื่องหลักสูตร วปอ.(ภาคประชาชน) สอบถามได้ที่

-  มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนจังหวัดขอนแก่น 0-4344-6112

- ศูนย์ประสานงานเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน จ.ขอนแก่น 0-4344-6341

 

"เราต้องคิดว่า เราคือ ผู้แพ้สงครามเกษตรเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมีจนดินเสื่อมหมดแล้ว เป็นหนี้สินพ้นตัว หนีมาพื้นแผ่นดินใหม่ มีพริก มะเขือ ผักชนิดต่าง ๆ ไก่บ้าน ปลาในบ่อ เป็นพลทหาร จะระดมพลออกรบเมื่อไหร่ก็ได้มีพืชสมุนไพร ผักพื้นบ้านเป็นยา ใช้รักษายามเจ็บไข้ มีลูกยอ กล้วย เป็นนายสิบ มีไผ่เป็นนายร้อย มียางนา ตะเคียนทอง เป็นนายพัน นายพล โดยมีเจ้าของสวนเป็นจอมทัพ สะสมกำลังอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ เพียงหนึ่งไร่ ไม่ต้องหวังรำรวย เอาแค่พออยู่พอกิน หวังสร้างทรัพย์สินทางปัญญาเป็นมรดกให้ลูกหลาน ทำอย่างนี้เท่านั้น ที่จะนำพาชีวิตครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติไปสู่ชัยชนะได้”

นี่คือ คำพูดของพ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้าน แห่งอำเภอแดนดง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่เปรียบเปรยให้เห็นถึงแนวทางการทำเกษตรปราณีตหนึ่งไร่ ซึ่งรัฐบาลชูให้เป็นแนวทางหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความยากจน

พ่อคำเดื่อง เล่าให้ฟังว่า ก่อนจะทำเกษตรปราณีตหนึ่งไร่ ก็ทำเกษตรธรรมชาติในพื้นที่ 50 ไร่ มาก่อน ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ตั้งแต่การปลูกไผ่ ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกพืชนานาชนิด ซึ่งชีวิตก็อยู่ได้อย่างมีความสุข

“ช่วงนี้สถานการณ์ด้านหนี้สิน และความล้มเหลวจากเกษตรเชิงเดี่ยวมันรุนแรงขึ้น ก็มาคิดว่า จะทำอย่างไรให้คนที่จะหนีจากวงจรอุบาตของเกษตรเคมี ได้เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น ครั้นจะให้ดูการทำในพื้นที่ขนาดใหญ่ บางคนก็ท้อ ทำไม่ไหวแน่ ๆ ก็มาคิดถึงการทำเกษตรปราณีต 1 ไร่”

“ใครมีพื้นที่เท่าไหร่ก็แล้วแต่ ก็ให้กัน 1 ไร่ มาทำเกษตรปราณีต โดยคนที่จะเข้าสู่โครงการเกษตรปราณีตจะต้องมีการปรับตัวจัดการใน 4 แนวทางด้วยกัน”

ประการแรก ต้องปรับแนวคิดเสียใหม่ ในทุก ๆ เรื่อง ทั้งแนวคิดการทำเกษตรที่พึ่งพาทางธรรมชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่พึ่งการตลาด ปรับชีวิตให้พออยู่พอกิน ไม่หวังผลอย่างรวดเร็ว และอีกหลาย ๆ อย่าง

พ่อคำเดื่อง บอกว่า การปรับแนวคิดนี้สำคัญที่สุด และทำยากที่สุด เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านถึงกับตั้งเป็นไฟท์บังคับที่จะต้องทำเราเรียกว่า การอบรม “วปอ. ภาคประชาชน” เน้นหนักไปในทางปรับแนวคิดด้านการเกษตรก่อนลงมือทำ แต่ถ้าใครปรับได้ก็จะเกิดแรงบังดาลใจ ทำงานอย่างแข็งขัน ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย

ประการถัดมา ต้องจัดการกับความรู้ด้านดิน น้ำ และพืชเสียใหม่ ความรู้สมัยใหม่ที่เราหลงไหลมานาน มักจะบอกว่า การปลูกพืชแต่ละต้นต้องมีระยะห่าง ต้องดายหญ้า ต้องอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย แต่ที่ธรรมชาติสอนเรานั้น บอกว่าไม่ต้องถึงขนาดนั้น สมมุติว่า เราปลูกกล้วย โคนกล้วย เราก็ปลูกพริก
ปลูกมะเขือ หรือปลูกไม้ยืนต้นอย่างตะเคียนทอง ยางนา ฯลฯ พืชแต่ละอย่างป้องกันแดดให้กันและกัน ดูดน้ำและธาตุอาหารที่ต่างกัน และยังเป็นการจัดการที่ดินทุกตารางนิ้ว ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“อย่างเรารดน้ำลงไป พวกพริก มะเขือ มีรากอยู่ผิวดิน ก็จะดูดน้ำผิวดินไปใช้ ก่อนที่น้ำจะซึมไปให้พวกตะเคียนทองได้ดูดกิน พวกหญ้าก็เหมือนกันไม่ต้องถอน มันไม่ได้แย่งอาหารหรอก แต่จะป้องกันไม่ให้น้ำระเหยเร็วกว่าปกติ เวลาตายก็กลายเป็นปุ๋ยอีก” พ่อคำเดื่องแจงเรื่องการจัดการน้ำให้ฟัง

เกษตรปราณีต 1 ไร่ ดำเนินงานโดยชาวบ้านเครือข่ายภูมิปัญญาไทย สนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  ปราชญ์จากบุรีรัมย์ เล่าอีกว่า นอกจากนี้ เรื่องสมุนไพรและผักพื้นบ้านเป็นเรื่องที่เราคำนึงถึงเป็นอย่างมาก ทุกวันนี้ คนรู้จักผักไม่กี่ชนิด เฉพาะที่วางจำหน่ายในห้าง ซึ่งไม่ค่อยแน่ใจเรื่องความปลอดภัย แต่ที่นี่ทุกอย่างปลอดภัย เพราะเราปลูกเอง เราปลูกแบบธรรมชาติ

พ่อคำเดื่อง ชี้ไปที่ต้นยางนา และตะเคียนทอง แล้วพูดว่า “มีคนอาชีพไหนบ้างที่กล้าพูดว่า ในอนาคตลูกหลานจะมีบ้านที่สร้างจากไม้ตะเคียนทอง แต่เราพูดได้ เพราะเราปลูกมันขึ้นมาเอง มีใครบ้างที่กล้าพูดว่า ได้สร้างอนาคตที่มั่นคงปลอดภัยให้กับลูกหลาน แต่พวกเราที่ทำเกษตรปราณีตหนึ่งไร่กล้าพูด”

ด้านนายสำเริง เย็นรัมย์ ชี้ให้ดูพืชนานาชนิดในแปลงเกษตรปราณีต ที่ตนลงแรงมาร่วมปีกว่า พื้นที่รอบ ๆ สระจะปลูกผักบุ้ง และพืชพื้นบ้าน ถัดมาก็ปลูกมะระ ผักหวาน กล้วย และพืชต่าง ๆ อีกหลายชนิด ทุกวันจะขายผักได้วันละไม่ต่ำกว่า 300 บาท โดยมีคนมารับซื้อถึงสวน และยังมีตลาดปลอดสารพิษในหมู่บ้านอีกด้วย
“เมื่อก่อนตนเป็นคนกินเหล้า ดูดบุหรี่ แต่พอหันมาทำเกษตรปราณีต ทำงานอย่างเพลิดเพลิน จนลืมดูดบุหรี่ไปเลย ตอนนี้ก็เลิกได้แล้ว ตอนเช้าลูก เมีย ก็มาช่วยเก็บผัก พูดคุยกันอย่างมีความสุข ผมว่ามีน้อยคนที่มีความสุขเท่าผม”
“อยากให้ลูกหลานคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ก็บอกลูกให้ชวนเพื่อน ๆ นักเรียนมาเที่ยวที่สวน ก็มากันครั้งละหลายคน มาตกปลาในบ่อ ปิ้งปลา ตำส้มตำกินกัน แล้วแจกพันธุ์ไม้ให้ทุกคนไปปลูกที่บ้าน เราตั้งใจว่า เด็ก ๆ จะกลับไปชวนพ่อแม่หันมาทำเกษตรปราณีต”

ส่วนนางกตัญชลี เกล้าพิมพ์ เล่าว่าเมื่อก่อนตนกับสามี ทำงานรับจ้างอยู่ในโรงงาน ทำถุงมือในตัวเมือง มีรายได้รวมกันตกเดือนละเกือบ 20,000 บาท แต่ก็หมดไปกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งกินอยู่ ค่าเช่าบ้าน ฯลฯ ก็เลยกลับมาอยู่บ้าน พร้อมหนี้สินติดตัวร่วม 200,000 บาท

“ทราบข่าวว่า เขามีการอบรม วปอ. ภาคประชาชน ก็เข้าไปอบรมกับเขาด้วย พออบรบเสร็จก็ลงมือทำเลย จำได้ว่า ตอนนั้นฟิตมากถึงกับไปขุดยางนา ตอนกลางคืน เพื่อนำมาปลูก แรก ๆ ก็ปลูกในพื้นที่หนึ่งงานรอบ ๆ บ้าน ตอนหลังก็หันมาทำปราณีตหนึ่งไร่ ปลูกทุกอย่างทั้งผัก ชนิดต่างๆ พืชบ้าน กล้วย ไม้ยืนต้น พวกยางนา ตะเคียนทอง ตอนนี้พืชล้มลุกให้ผลผลิตแล้วหลายรุ่น อีกทั้งยังมีรายได้จากการเพาะชำยางนาและพืชต่าง ๆ ขาย สามารถนำเงินไปปลดหนี้ได้แล้วแสนกว่าบาท คาดว่า หนี้ที่เหลือจะหมดในไม่ช้านี้”

พ่อคำเดื่อง เล่าเพิ่มเติมอีกว่า แนวทางการทำเกษตรปราณีต เป็นการหันไปหาปัญญาดั้งเดิม ต้องเร่งทำในตอนนี้ หากคนรุ่นเราล้มหายตายจาก ก็จะไม่มีมรดกด้านความรู้ ตกทอดถึงลูกหลาน ตอนนี้เรามีแปลงนำร่อง 250 แปลง ทั่วทั้งภาคอีสาน ทุกเดือนเราจะประชุมกัน แลกเปลี่ยนความรู้กัน นำพันธุ์ไม้แปลก ๆ มาแลกกัน เราจึงได้ความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องนี้ต้องทำให้เป็นกระแส เราตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2560 ทั่วทั้งภาคอีสาน น่าจะมีพื้นที่เกษตรปราณีต 1 ล้านครอบครัว หรือประมาณหนึ่งใน 10 ของประชากรในภาคอีสาน

“ไม่น่าเชื่อว่า ทรัพยากรทุกอย่างที่สั่งสมมานับล้าน ๆ ปี ไม่ว่า ดิน น้ำ ป่า แร่ต่าง ๆ ถูกใช้หมดโดยคนที่มีชีวิตอยู่ในช่วง 100 ปีนี้เอง ไม่ค่อยมีคนคิดถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ว่าจะอยู่กันอย่างไร ดังนั้น ที่เรามาทำเกษตรปราณีต 1 ไร่ เท่ากับ เรามาร่วมกันสร้างมรดกให้กับลูกหลาน ทั้งมรดกความรู้ด้านการเกษตร ความรู้ด้านด้านการครองตนที่ดินที่สมบูรณ์ และวิถีชีวิตที่ดีงาม